วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยา...อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น?


ยา

ยา…อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น? (e-magazine)

          จริงอยู่ที่ยาเป็นสิ่งดีมีคุณอนันต์ แต่ขณะเดียวกันก็มีโทษมหันต์ ถ้าใช้ไม่เป็น โดยความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักนึกว่า "ยา" คือ สิ่งที่ใช้บรรเทาหรือรักษาให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แล้วจะมีโทษมหันต์ได้อย่างไร แต่แท้จริงแล้วยาเปรียบเสมือนดาบสองคม หากรู้จักใช้อย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ สามารถนำไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเราได้ ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น เจ็บปวดน้อยลง แต่ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้องหรือถูกวิธี นอกจากจะทำให้ไม่หายจากโรคแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 ดูสักนิดก่อนใช้ยา

          ก่อนที่จะหยิบหยูกยามาใช้ คุณควรระมัดระวังสักนิด โดยต้องศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างละเอียด อ่านคำเตือน และข้อควรระวังก่อนใช้ยานั้น ๆ และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษานั่นเอง ก่อนกินยาทุกครั้งต้องดูให้แน่ใจว่า ยานั้นต้องกินก่อน หรือหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร ในขนาดหรือปริมาณเท่าไร ยาก่อนอาหารควรกินก่อนอาหาร ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ส่วนยาหลังอาหารส่วนมากกินหลังอาหารหนึ่งชั่วโมง แต่บางชนิดจะระบุให้กินหลังอาหารทันที จึงต้องแน่ใจว่า ยานั้น ๆ ใช้อย่างไร นอกจากนี้การกินยาควรกินกับน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่น ไม่ควรกินกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไม่ควรกินยากับน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้เช่นกัน

 ยากับลูกน้อย

          การใช้ยาที่ควรระวังเป็นพิเศษก็คือ การใช้ยาในเด็ก ต้องแน่ใจว่า ยาที่ได้มานั้นสำหรับเด็กเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ หรือดูฉลากยาให้ละเอียดด้วยว่าเด็กมีน้ำหนักตัวเท่าไร ถ้าเด็กตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ยาบางชนิดจะระบุให้ใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า แม้ว่าจะอายุเท่ากันก็ตาม เช่น การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอลกับเด็ก ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ยา

 เก็บยาให้เป็น

          สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บไว้บนที่สูงที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อย่าปล่อยให้ยาโดนแสงแดด หรือความชื้น หรือเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เพราจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็วกว่ากำหนด เมื่อเปิดใช้ยาแล้วควรปิดฝาให้สนิทป้องกันฝุ่น แมลง หรือความชื้นเข้า ไม่ควรเก็บยาหลาย ๆ ชนิดไว้ในขวดเดียวกัน เพราะอาจทำให้ยาเสียได้ ไม่ควรเก็บยาไว้นาน ๆ ต้องดูวันหมดอายุของยา อย่าเผลอกินยาที่หมดอายุแล้ว เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ แม้ยาบางชนิดจะไม่ระบุวันหมดอายุไว้ที่แผงยา หรือบรรจุภัณฑ์ แต่โดยทั่วไปสภาพของยาจะมีอายุอยู่ได้นานเป็นเวลาประมาณ 2-3 ปี หลังจากวันที่ผลิต แต่ยาบางชนิดเมื่อเปิดใช้แล้วก็อาจมีอายุการใช้สั้น เช่น ยาหยอดตา ซึ่งจะมีอายุหลังเปิดใช้เพียง 1 เดือนเท่านั้น หรือยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำสำหรับให้เด็กรับประทาน หลังจากผสมน้ำแล้วยาตัวนั้นจะมีอายุอยู่ได้เพียง 7 วัน หมายความว่าหลังจาก 7 วันแล้วไม่ควรนำยานั้นมาใช้อีกต่อไป

 ใช้ให้ถูก

          วิธีการใช้ยาแต่ละชนิดเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทราบและใช้ให้ถูกวิธีดังกล่าวแล้ว ตัวอย่างการใช้ยาให้ถูกวิธี เช่น การกินยาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนัง หากเป็นชนิดรับประทานวันละ 1 เม็ด ควรรับประทานเวลาเช้า เพื่อให้ยาสามารถซึมออกมากับเหงื่อช่วงที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน หรืออย่างแคลเซียมคาร์บอเนต ก็ต้องรับประทานหลังอาหารเพราะตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อกระเพาะมีการหลั่งกรดออกมามาก หรืออย่างยาระบายไม่ควรกินร่วมกับนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสียได้  

          ส่วนยาประเภทซัลฟา ให้กินหลังอาหารและดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อป้องกันมิให้ยาตกตะกอน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เป็นนิ่วที่ไตได้ในภายหลัง เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง ในการไปพบแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่า ขณะนี้คุณกำลังกินยาอะไรอยู่บ้าง ถ้าจำไม่ได้ ให้นำยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้สั่งยาไม่ซ้ำ หรือยาที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน และอย่าลืมแจ้งด้วยว่าคุณแพ้ยาอะไร ตลอดจนควรบอกให้แพทย์ทราบว่าคุณมีโรคประจำตัว หรือกำลังป่วยด้วยโรคอะไร เช่น โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหาร หรือกำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้เลี่ยงการจ่ายยาที่เป็นอันตรายกับโรคที่คุณเป็นอยู่นั้น

          ก่อนจะใช้ยา ให้คุณคิดถึงหลักเกณฑ์ ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกเงื่อนไข ถูกขนาด และถูกกับโรค จึงจะสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคอย่างแท้จริงและมีความปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น