วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หากดวงจันทร์อันเป็นที่รักต้องจากไป (mata)


บทความที่แล้ว  ผมได้เขียนเป็นนิทานเรื่อง  ดวงจันทร์กับสายน้ำแห่งความรัก ในนิทานเรื่องนี้ได้กล่าวถึงกำเนิดดวงจันทร์ และผลของดวงจันทร์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง  ที่เขียนให้เป็นนิทานก็เพียงหวังเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและทำให้จดจำง่ายขึ้น  โดยเฉพาะเยาวชนหรือผู้ปกครองได้อ่านให้บุตรหลานฟังเพื่อความบันเทิงและเป็นความรู้  แต่ในท้ายนิทานเรื่องนี้ทิ้งท้ายว่า ลองถามโลกดูสิว่า......เธอจะอยู่อย่างไรหากไร้ซึ่งดวงจันทร์....และประโยคนี้คือที่มาของบทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไป

เชื่อกันว่า ทั้งโลกและดวงจันทร์มีอายุพอๆ กัน คือราว 4,600 ล้านปี  มีหลายทฤษฏีเกี่ยวกับกำเนิดดวงจันทร์  ทฤษฎีที่ยอมรับกันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ทฤษฎีการชนครั้งใหญ่ กล่าวว่ามีวัตถุขนาดดาวอังคารโคจรมาชนโลก ในช่วงที่โลกกำลังก่อตัวขึ้นใหม่ ๆ ทำให้เนื้อโลกบางส่วนที่ยังร้อนอยู่กระเด็นออกไป กระจัดกระจายในอวกาศและรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์  ในช่วงเวลานั้นเชื่อว่าโลกและดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วมากกว่าในปัจจุบัน  แต่ด้วยแรงดึงดูดที่ส่งผลระหว่างกันจึงทำให้การหมุนช้าลงจนเท่าปัจจุบัน  อีกทั้งดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองและโคจรรอบโลกใช้เวลาเท่ากันเรียกว่าการหมุนแบบสมวาร  ทำให้ดวงจันทร์หันหน้าเข้าหาโลกด้านเดียว



เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) ได้สังเกตเห็นว่า เอกภพกำลังขยายตัวตลอดเวลา เพราะได้เห็นดาราจักร (galaxy) ต่างๆ ที่อยู่ไกลโพ้น เคลื่อนที่หนีจากกันด้วยความเร็วที่เป็นปฏิภาคโดยตรงกับระยะทาง (นั่นคือยิ่งอยู่ไกล ดาราจักรยิ่งมีความเร็วมากและนักฟิสิกส์ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้เอกภพขยายตัวว่า มาจากพลังงานที่หลงเหลืออยู่หลังการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ (Big Bang) เมื่อ 13,700 ล้านปีก่อน 

เมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลมหึมาแตกดับลง มันอาจจะทิ้งสิ่งที่ดำมืดที่สุด ทว่ามีอำนาจทำลายล้างสูงสุดไว้เบื้องหลัง นักดาราศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า หลุมดำ (black hole) เราไม่สามารถมองเห็นหลุมดำด้วยกล้องโทรทรรศน์ใดๆ เนื่องจากหลุมดำไม่เปล่งแสงหรือรังสีใดเลย แต่นักดาราศาตร์ก็มีวิธีอื่นในการค้นหา และจนถึงปัจจุบันได้ค้นพบหลุมดำในจักรวาลแล้วอย่างน้อย แห่ง หลุมดำเป็นซากที่สิ้นสลายของดาวฤกษ์ที่ถึงอายุขัยแล้ว สสารที่เคยประกอบกันเป็นดาวนั้นได้ถูกอัดตัวด้วยแรงดึงดูดของตนเองจนเหลือเป็นเพียงมวลหนาแน่นที่มีขนาดเล็กยิ่งกว่านิวเคลียสของอะตอมเดียว ซึ่งเรียกว่า เอกภาวะ (singularity) เนื่องจากหลุมดำมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าใกล้มิให้หนีออกไปจากหลุมดำได้  แม่แต่แสงก็หนีออกจากหลุมดำไม่ได้(จึงมองไม่เห็นและจึงมีชื่อเรียกว่า หลุมดำ) 

เอกภพมีสสารที่เรารู้จักและเข้าใจดีเพียง 4% เท่านั้นเอง คือมีอีก 22% ที่เป็นสสารมืด (dark matter) ที่ตามองไม่เห็น และอุปกรณ์ต่างๆ ยังตรวจจับไม่ได้ กับอีก 74% ที่เหลือเป็นพลังงานมืด (dark energy) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแรงผลักดัน ซึ่งแรงนี้รุนแรงยิ่งกว่าแรงโน้มถ่วงมาก

จากการขยายตัวของจักรวาลจึงส่งผลให้ดวงดาวมีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น  รวมทั้งโลกและดวงจันทร์ด้วย  ในทุกๆ ปีดวงจันทร์ห่างโลกด้วยอัตรา 3 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งอีก 1 ล้านปีจะเคลื่อนห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร  เราทราบดีว่าดวงจันทร์มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดน้ำขึ้นและน้ำลง  การที่โลกเราหมุนรอบตัวเองด้วยความเสถียร (ไม่แกว่ง) นั้น  ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะเกิดแรงดึงดูดระหว่างกันของโลกและดวงจันทร์  หากดวงจันทร์ห่างออกไปมากจนพ้นแรงดึงดูดของโลก  จะส่งผลกระทบกับโลกเราอย่างไรบ้าง

การเกิดน้ำขึ้นน้ำลงคงได้รับผลกระทบโดยตรง  หากเกิดภาวะน้ำนิ่ง (ขึ้นและลงระดับน้อยมาก) จะส่งผลต่อวัฏจักรของพืชพันธุ์และสัตว์แค่ไหน  หากโลกหมุนแบบไม่เสถียรจะส่งผลต่อสภาพภูมิกาศโลกเพียงใด  ฤดูกาลที่คงที่มายาวนานจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่  ทั้งหมดคงเกิดในอีกหลายรุ่นต่อจากเรา  มันคงยังอีกยาวไกลหากดวงจันทร์ค่อยๆ จากไปทีละน้อย  แต่หากเกิดอะไรขึ้นกับดวงจันทร์ที่เป็นผลจากการถูกพุ่งชนของอุกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยดวงโต  ดวงจันทร์คงจากเราไปเร็วกว่าที่คาด  แล้ววันนั้นเราจะอยู่อย่างไรหากไร้ซึ่งดวงจันทร์

หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง  และถ้าอ่านประกอบกับนิทานเรื่อง ดวงจันทร์กับสายน้ำแห่งความรัก ก็จะทำให้เสริมความเข้าใจง่ายขึ้น  สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านนิทานก็อยากให้อ่านครับ  ต่อไปเราคงต้องห่วงใยดวงจันทร์ให้มากกว่านี้  ทุกครั้งที่แหงนมองดูดวงจันทร์คำอธิษฐานที่เคยขอคงต้องเพิ่มอีกข้อ 

..……ขอให้ดวงจันทร์ปลอดภัยและอยู่คู่โลกไปแสนนาน……….

สงวนสิทธิ์ ห้ามนำบทความนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์  หากคัดลอกไปกรุณาให้เครดิตผู้ประัพันธ์ด้วย ขอบคุณครับ


ภาพประกอบ  พรชัย  สังเวียนวงศ์ (mata)
ประพันธ์โดย  พรชัย  สังเวียนวงศ์ (mata)
ข้อมูลอ้างอิง  http://thaiastro.nectec.or.th , Google.co.th

เนื้อหาโดย: mata

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น